เกษตรกรจำนวนมากต้องยอมขายสินค้าในราคาขาดทุน เกิดเป็นปัญหาหนี้เสียสะสมที่ส่งผลกระทบในระดับประเทศ การที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการใช้สารเคมีทางการเกษตรสูงที่สุดยังส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ และอากาศ ในส่วนผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง นับได้ว่าภาวะความไม่สมดุลของระบบอาหารเป็นรากของปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ จำเป็นที่ต้องมีผู้นำร่วมจากทุกภาคส่วนมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

"สามพรานโมเดลเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าอาหารอินทรีย์จากต้นน้ำถึงกลางน้ำและปลายน้ำโดยอยู่บนฐานของการค้าที่โปร่งใสเป็นธรรม ยกระดับให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง และเกิดการแบ่งปันความรู้ประสบการณ์สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยสนับสนุนให้มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางตรงในห่วงโซ่คุณค่าทำหน้าที่ประสานความร่วมมือให้เกิดขึ้นภายในพื้นที่พร้อมเชื่อมโยงกับเครือข่ายระดับประเทศผ่านการสนับสนุนของมูลนิธิสังคมสุขใจและสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส"

กลยุทธ์ที่สำคัญของสามพรานโมเดล
กลยุทธ์
-
การสร้างความเชื่อมั่นและพันธมิตร
-
ผู้นำร่วมการเปลี่ยนแปลง
-
การบริหารจัดการระบบ
-
การเพิ่มศักยภาพและจัดการองค์ความรู้
เครื่องมือ
-
ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS)
-
การตลาดการขับเคลื่อน
-
Thai Organic Platform
-
สามพรานโมเดล อะคาเดมี่
01/
กลยุทธ์การสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างภาคส่วน
โดยมี PGS (Participatory Guarantee System) เป็นเครื่องมือสนับสนุน PGS หรือระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม ได้รับการสนับสนุนใช้ในระดับสากลเป็นเครื่องมือให้เกษตรกรอินทรีย์แสดงความโปร่งใสในกระบวนการทำงานผ่านการตรวจสอบรับรองของกลุ่ม เหมาะกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนแทนที่การประเมินควบคุมโดยหน่วยงานให้การรับรองภายนอกซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงทำให้เกษตรกรจำนวนมากเข้าไม่ถึง
PGS อยู่บนพื้นฐานข้อตกลงร่วมกันถึงกระบวนการทำงานและมาตรการกรณีมีการทำผิดจากข้อตกลง สามพรานโมเดลได้นำ PGS มาใช้ตั้งแต่ปี 2556 โดยเล็งเห็นถึงโอกาสการนำมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ ในการทำงานมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรอย่างใกล้ชิดตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนสู่การทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน มีการวางแผนและเตรียมการผลิต การเพาะปลูกดูแลแปลง การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การตลาดและการสร้างแบรนด์ของกลุ่ม
นอกจากนั้นสามพรานโมเดลยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและภาคส่วนต่างๆในกระบวนการ PGS เช่นการร่วมประชุมกลุ่มกับเกษตรกร เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่า

02/
กลยุทธ์การสร้างผู้นำร่วมการเปลี่ยนแปลง
และการถ่ายทอดแบ่งปันประสบการณ์ (Share) เพื่อการขยายผล ตลอดเส้นทางการเรียนรู้สามพรานโมเดลมุ่งหวังให้เกิดการยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้เป็น SMEs ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเกื้อกูลสังคม และผู้บริโภคเป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัวมีความรับผิดชอบ และทั้งหมดได้มาเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงในที่สุด
โดยใช้เครื่องมือการตลาดการขับเคลื่อน (Social Movement Marketing) ประกอบด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire) ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ อาทิเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ได้ออกจากกรอบเดิมๆ มาร่วมเป็นนักขับเคลื่อน (Social Movers) การส่งเสริมการเรียนรู้ (Learn) ที่นำไปสู่การลงมือทำ (Act) ตามบทบาทและความสนใจ

03/
กลยุทธ์การบริหาร จัดการระบบ
จากการสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทำให้สามพรานโมเดลสามารถดำเนินการพัฒนา Digital Platform เป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ที่ต้นน้ำได้แก่ การวางแผนผลิต การบันทึกการจัดการแปลง การควบคุมคุณภาพการผลิต การคำนวณต้นทุนและราคาที่เหมาะสม
ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ต่อไป และยังเอื้ออำนวยกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) พร้อมเทคโนโลยี Blockchain ช่วยสร้างความเชื่อมั่น นอกจากนั้น Digital Platform ยังครอบคลุมระบบการค้าออนไลน์ (E-commerce) ช่วยเปิดโอกาสและช่องทางการค้าใหม่ๆให้กลุ่มเกษตรกร พร้อมการพัฒนาระบบชุมชนออนไลน์ของสมาชิกนักขับเคลื่อน สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคผ่านงานสื่อสาร มี Blogs หรือ Discussion Boards เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น และชวนทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมการสะสมแต้มสร้างแรงจูงใจ
04/
กลยุทธ์การเพิ่มศักยภาพและจัดการองค์ความรู้
โดยมีสามพรานโมเดล อะคาเดมี่ (Sampran Model Academy) เป็นเครื่องมือทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์การดำเนินงานของสามพรานโมเดลและพันธมิตรหลัก เช่น สวนสามพราน แล็บอาหารยั่งยืน (Sustainable Food Lab Thailand) ถอดบทเรียน สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ และสร้างช่องทางเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น สัมมนา เวิร์คชอป ผลิตสื่อสนับสนุนการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ
นอกจากนั้นสามพรานโมเดล อะคาเดมี่ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในการทำงานวิจัยและพัฒนา องค์ความรู้หลักที่ได้แบ่งออกเป็นส่วนงานต้นน้ำ (เช่น การทำเกษตรอินทรีย์) งานกลางน้ำ (เช่น การจัดการธุรกิจเกื้อกูลสังคม) งานปลายน้ำ (เช่น การตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์) และส่วนที่สนับสนุนการจัดการห่วงโซ่คุณค่าโดยรวม (เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน องค์กรแห่งการเรียนรู้ ผู้นำร่วมการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ)
